การปรับปรุงกระบวนการให้บริการ ต้องเริ่มจากความเข้าใจกระบวนการใช้บริการของลูกค้า ทั้งขั้นตอนการรับบริการ ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับ รวมถึงความคาดหวังในแต่ขั้นตอน เราอาจเปรียบเทียบการออกแบบกระบวนการให้บริการ เสมือนเราเป็นผู้กำกับที่กำลังเตรียมการผลิตภาพยนตร์ที่จะออกสู่สายตาประชาชน เราต้องมีการเขียนบทและกรอบแสดงเรื่องราวหรือ Storyboard ที่สมบูรณ์เพื่อค้นหาจุดบกพร่องที่ควรปรับปรุง หรือโอกาสในการจัดการกระบวนการให้การบริการให้แตกต่างและแปลกใหม่ โดยอาศัยเครื่องมือที่ช่วยออกแบบและวางแผนกระบวนการบริการที่ พิมพ์เขียวการบริการ (Service Blueprint) ซึ่งผังงานเป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่เขียนกระบวนการให้บริการให้เป็นขั้นตอน ส่วนพิมพ์เขียวการบริการเป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อนำเสนอทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลต่อกระบวนการบริการลูกค้า เสนอโดย Shostack (1982) ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดจากการจัดการการผลิตและการปฏิบัติการ
พิมพ์เขียวการบริการ (Service Blueprint) คือ อะไร
พิมพ์เขียวการบริการ (Service Blueprint) คือ เครื่องมือที่วาดภาพและผังกระบวนการของงานบริการที่กำหนดการติดต่อลูกค้าจากมุมมองประสบการณ์ของลูกค้า
และจากกระบวนการให้บริการของพนักงาน รวมถึงแสดงลักษณะทางกายภาพ
เริ่มต้นจากการติดต่อของลูกค้าจนส่งมอบบริการเสร็จสิ้น เป็นเครื่องมือแสดงแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมการให้บริการแก่ลูกค้า
มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกระบวนการให้บริการของธุรกิจค้าปลีก และปรับปรุงคุณภาพ
จึงมีการแบ่งแยกระหว่างกิจกรรมของลูกค้าในการใช้บริการ (frontstage) และกิจกรรมสนับสนุนของพนักงานผู้ให้บริการ
(backstage) โดยใช้เส้นการมองเห็น (line of visibility) ของลูกค้าเป็นหลักในการแบ่งแยก
องค์ประกอบของพิมพ์เขียวการบริการ
การออกแบบการบริการประกอบด้วย
4 ส่วนหลัก ได้แก่
1. กิจกรรมส่วนหน้า (Front Stage Activity)
กิจกรรมส่วนหน้าเป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทั้งหมดที่ลูกค้าได้รับเริ่ม
ตั้งแต่การเริ่มติดต่อกับลูกค้าจนถึงการส่งมอบผลผลิตสุดท้ายของการบริการ ซึ่งสภาวะกายภาพของกิจกรรมส่วนหน้าเป็นสิ่งใดก็ตามที่ลูกค้ามองเห็น
สัมผัส หรือ ได้ใช้ในการประเมินคุณภาพการบริการ เช่น
ร้านค้ากิจกรรมส่วนหน้าอาจเริ่มตั้งแต่ลูกค้ายังไม่ถึงร้าน แต่โทรมาสอบถามสินค้า
เป็นการเริ่มของกิจกรรมส่วนหน้า ซึ่งลูกค้าสัมผัสการตอบรับทางโทรศัพท์ เมื่อเดินเข้ามาที่หน้าร้านก็เห็นบรรยากาศในร้าน
ซึ่งส่วนที่สัมผัสได้ทั้งหมดเป็นสภาวะกายภาพหรือ Physical Evidence ที่เป็นองค์ประกอบใน 7 P (Product Price Place Promotion Process Physical Evidence และ People) นั่นเอง
ปัจจุบัน ธุรกิจจะมีกิจกรรมส่วนหน้าที่ลูกค้าได้สัมผัสทั้งออนไลน์และออฟไลน์แบบ Omnichannel Marketing มากขึ้น
2. เส้นการมองเห็น (Visibility Line)
เส้นการมองเห็นเป็นเส้นที่แยกแบ่งระหว่างประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากกิจกรรมส่วนหน้า
แยกกับกิจกรรมที่พนักงานต้อนรับหรือพนักงานส่วนสนับสนุนดำเนินการที่ลูกค้ามองไม่เห็น
ซึ่งร้านค้าจำเป็นต้องเข้าใจซึ่งแบ่งการมองเห็นเพื่อที่จะสามารถจัดการทั้งกิจกรรมส่วนหน้า
และการดำเนินการของกิจกรรมสนับสนุน เพื่อสร้างประสบการณ์และคุณภาพการบริการที่ดีที่สุด
3. กิจกรรมส่วนหลัง (Back-stage Activity)
กิจกรรมส่วนหลังเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อสนับสนุนขั้นตอนในกิจกรรมส่วนหน้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดกระบวนการสนับสนุนจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่จำเป็น
ซึ่งพนักงานส่วนหน้าจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลสมาชิก ประวัติการซื้อ
ความต้องการต่างๆ ถ้าเกิดความผิดพลาดในกิจกรรมส่วนหลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมส่วนหน้าเช่นกัน
เช่น การออกส่วนลดสมาชิกผิดพลาดจากข้อมูลในระบบที่ลงไว้ไม่ดี
ทำให้ลูกค้าเสียเวลารอแก้ใบเสร็จ หรือ ต้องกลับมาใหม่ หากรู้ว่า ร้านคิดเงินผิดไป
เป็นต้น
สอดคล้องกับกิจกรรมส่วนหน้าที่มีกิจกรรมที่เป็นดิจิทัล กิจกรรมส่วนหลังมีส่วนประกอบที่นำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมส่วนหน้า เช่น การใช้ POS หรือ ระบบประมวลคำสั่งซ์้อ
4. จุดบกพร่อง และจุดรอคอย (Failure and Waiting Points)
จุดบกพร่อง (Failure Point) คือ จุดล้มเหลวในการบริการที่ลูกค้ามักเกิดความไม่พึงพอใจบริการบ่อยครั้ง และ จุดรอคอย (Waiting Point) คือ จุดวิกฤตที่มีความเสี่ยงทำให้ลูกค้ารอคอยจนไม่พึงพอใจในการบริการได้
พิมพ์เขียวบริการจำเป็นต้องระบุจุดบกพร่องในขั้นตอนการบริการซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงที่จะผิดและส่งผลเสียต่อคุณภาพการบริการถ้าผู้บริหารตระหนักถึงจุดบกพร่องจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่หรือมีแผนสำรองเพื่อที่จะแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน การระบุจุดรอคอยในพิมพ์เขียวบริการ เพื่อระบุจุดที่ลูกค้ามักจะรอคอยซึ่งจะทำให้เกิดความหงุดหงิดในการใช้บริการ จนร้านค้าจำเป็นต้องหากลยุทธ์มาจัดการการรอคอยให้เหมาะสมมากขึ้น
การระบุจุดบกพร่องและจุดรอคอยในการออกแบบกระบวนการบริการ
เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและตั้งเป้าหมายการบริการจากการตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าในกิจกรรมส่วนหน้า
ซึ่งรวมถึงคุณภาพบริการและเวลาที่เฉพาะเจาะจงว่าจะเกิดการส่งมอบการบริการที่ควรได้รับ
ซึ่งบุคลากรการบริการและผู้บริหารจำเป็นต้องตกลงร่วมกันเพื่อพัฒนามาตรฐานให้เกิดขึ้น
ขั้นตอนการสร้างพิมพ์เขียวการบริการ
การสร้างพิมพ์เขียวการให้บริการเกิดจากข้อมูลกระบวนการบริการ
ที่ได้จากการวิจัยลูกค้า การสอบถาม หรือสังเกตุ
และข้อมูลภายในเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของพนักงานและธุรกิจค้าปลีกในการตอบสนองต่อกิจกรรมของลูกค้าแต่ละจุด
ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนการจัดทำพิมพ์เขียวพร้อมตัวอย่างพิมพ์เขียวของธุรกิจบริการจัดส่งดอกไม้
เพื่อประกอบการอธิบายเพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
เป็นการแจกแจงกระบวนการการใช้บริการของลูกค้าที่มองเห็นได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด
โดยระบุลักษณะทางกายภาพของแต่ละกระบวนการ และระบุกิจกรรม/การแสดงออก /พฤติกรรม ของผู้ให้บริการในแต่ละกระบวนการย่อย
ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายดอกไม้
กระบวนการที่ลูกค้ามองเห็นได้ประกอบไปด้วยขั้นตอนด้านซ้ายสุดตามผังภาพ
· เป็นการระบุกิจกรรมและการแสดงออกของพนักงานให้บริการแก่ลูกค้าในแต่ละกิจกรรมย่อยของลูกค้าที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างธุรกิจค้าปลีกและลูกค้า
พร้อมระบุมาตรฐานที่มีมาตรวัดด้านเวลาและข้อกำหนดทางเทคนิคการให้บริการ
รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับพฤติกรรมของพนักงาน อ้างอิงตามขั้นตอนที่ 2 ในผังภาพ
· เป็นการระบุกิจกรรมสนับสนุนในการให้บริการกับลูกค้าในแต่ละกระบวนการย่อย ซึ่งกระบวนการสนับสนุนเป็นกระบวนการที่ลูกค้ามองไม่เห็น
ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกค้าชำระเงิน
ลูกค้าเห็นแต่กระบวนการส่งมอบดอกไม้ที่จัดแต่งเสร็จพร้อมใบเสร็จแล้ว
แท้จริงแล้วมีกระบวนการสนับสนุนที่ออกมองไม่เห็น เช่น การออกใบเสร็จและบันทึกบัญชี
กระบวนการสนับสนุนของพนักงานมักอยู่ใต้เส้นกั้นการมองเห็น (line of
visibility) เสมอ ซึ่งเส้นกั้นการมองเห็น ในพิมพ์เขียวบริการ
หมายถึง เส้นกั้นระหว่างกระบวนการที่ลูกค้ามองเห็น (Front-stage) กับกระบวนการที่ลูกค้ามองไม่เห็น (Back-stage) อ้างอิงตามขั้นตอนที่
3 ในผังภาพ
· เป็นการระบุทรัพยากรภายในหรือระบบโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจค้าปลีกที่ใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมหลัก
เพื่อให้ดำเนินการบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าโดยรวม
เช่น ระบบการบันทึกข้อมูลลูกค้าที่สั่งซื้อดอกไม้
ซึ่งช่วยทำให้กระบวนการส่งมอบเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว
และลดเวลาในการออกใบเสร็จรับเงิน เพราะใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้เรียบร้อยตั้งแต่ลูกค้าสั่งซื้อ
เป็นต้น อ้างอิงตามขั้นตอนที่ 4 ในผังภาพเช่นกัน
ประเมินผลการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรม
โดยระบุจุดที่เป็น
- จุดบกพร่อง
คือ จุดล้มเหลวในการบริการที่ลูกค้ามักเกิดความไม่พึงพอใจบริการบ่อยครั้ง
- จุดรอคอย
คือ จุดวิกฤตที่มีความเสี่ยงทำให้ลูกค้ารอคอยจนไม่พึงพอใจในการบริการได้
เพื่อนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการบริการใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในตัวอย่างธุรกิจร้านดอกไม้นี้ อาจพบจุดบกพร่องที่ผิดพลาดบ่อยครั้งทำให้ลูกค้าบ่น หรือไม่พอใจ คือการรับคำสั่งซื้อ ที่อาจรับคำสั่งได้ผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริง ขณะที่จุดรอคอยคือการส่งมอบและเก็บเงินเนื่องจากจ้างพนักงานส่งของภายนอก อาจเป็นจุดที่ควบคุมไม่ได้ และอาจมีการล่าช้าจนทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ถ้าเกิดไปไม่ตรงเวลา หรือไปผิดสถานที่ได้ ซึ่งระบุเครื่องหมายอยู่ในผังภาพ เพื่อนำมาปรับปรุงต่อไป พอเราระบุได้แล้ว ผู้ประกอบการจะนำไประดมสมองหาวิธีปรับปรุงกระบวนการเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องและจุดรอคอยว่าเราสามารถแก้ได้อย่างไรบ้าง เช่น
- การแสดงเมนูดอกไม้ด้วยภาพ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือก
-การถ่ายรูปภายหลังการจัดดอกไม้เสร็จก่อนนำไปจัดส่ง เพื่อให้ลูกค้าดูทางไลน์
ฯลฯ
ลองดูตัวอย่างผลงานนักศึกษาที่ทำ Service Blueprint กันนะคะ
เสร็จแล้วนักศึกษาก็ระดมสมองคิดต่อว่าจะแก้จุดที่เป็นจุดบกพร่อง จุดรอคอย ได้อย่างไรกันบ้าง บางทีเราใช้การปรับกระบวนการใหม่ เพิ่มกระบวนการเข้ามา หรือ เอาเทคโนโลยีมาช่วย
เป็นอย่างไรคะ การสอนทำพิมพ์เขียวการบริการมีความสำคัญ เพราะการออกแบบพิมพ์เขียวการให้บริการเป็นการสร้างกระบวนการให้บริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าและผลการบริการ
นักการตลาดบริการใช้พิมพ์เขียวในการบริการเข้ามาในกระบวนการสร้างมาตรฐานการให้บริการ
และประเมินผลการบริการของบุคลากร เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกต้องวางแผนส่งมอบการบริการที่เป็นมาตรฐานตามแบบพิมพ์เขียวการบริการ
โดยอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรภายในองค์กรมากที่สุด
เนะมีวิดีโอประกอบในช่อง youtube.com/anothaimarketing ไว้ให้ดูประกอบด้วยค่ะ