เคล็ดลับการเป็นครูอาจารย์ที่มีความสุข

0

 เมื่อก่อนใครเรียกเนะไปแชร์เรื่องเคล็ดลับการสอนหรืออะไรเทือกนี้ เนะจะรีบปฏิเสธ ไม่ไป๊ ไม่ไป เพราะอายที่เราเพิ่งเป็นอาจารย์แค่ 9 ปี (เลขตัวเดียวเอง) ไม่ได้จบศาสตร์การสอนอะไรกับเขาเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้เป็นอาจารย์ตั้งแต่จบ แต่พอได้รับรองมาตรฐานการสอนเมื่อสามปีที่แล้วของอังกฤษที่เรียกว่า UK-PSF ระดับ Senior Fellowship ก็ไม่ใช่ว่ามั่นหน้าว่าฉันเก่งอะไรขึ้นมานะคะ แต่การรับรองนั้นเน้นย้ำให้เราไม่ต้องรอจน Perfect และต้องรู้จักแบ่งปันส่วนที่เราคิดว่าทำได้ดีกับเพื่อนอาจารย์ด้วยกันค่ะ เพื่อพัฒนาวิชาชีพไปพร้อมๆ กัน 

แนวคิดนี้ทำให้เนะลุกมาทำตำราวิจัยการตลาด การตลาดดิจิทัลให้เพื่อนๆ อาจารย์ใช้เตรียมการสอน และทำให้เนะเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อแชร์เคล็ดลับการเป็นอาจารย์ให้มีความสุข ทำไมเราต้องอาศัยเคล็ดลับ? ก็อาชีพเราไม่ได้ทำเงินถุงเงินถังนะคะ แถมเจอความเหนื่อยยากจากงานเอกสารพะรุงพะรังทั้งประกันคุณภาพ แผนการศึกษา ประเมินผลงาน และเอกสารประกอบการสอน บรา บรา บรา แถมงานไม่มีวันหยุดอีกต่างหากค่ะ รับลูกศิษย์ทั้งโทร ไลน์ อีเมล สารพัดปัญหา

ดังนั้น เราต้องมีเคล็ดลับในการเดินหน้าอาชีพเราได้อย่างมีความสุขค่ะ ลองฟัง 5 เคล็ดลับในบล็อกนี้และใน https://youtu.be/EuH8pxL-SSU ได้เลยค่ะ 💓💓💓



เคล็ดลับการเป็นครูอาจารย์ที่มีความสุข

เนะมีเคล็ดลับง่ายๆ อยู่ 5 ข้อค่ะ

1. มองนักเรียนให้เหมือนคนในครอบครัว (Student Love)

ถ้าเราไปเข้าคอร์สอนการนำเสนอต่อหน้าคนสำหรับคนที่ขี้อาย เทคนิคที่มักแนะนำให้เราหายกลัวการนำเสนอ คือ มองคนฟังเป็นผักกาด หัวหอม แครอท จะไม่ไม่รู้สึกเขิน สั่น อาย แต่สำหรับผู้สอน เราไม่เพียงแค่ไม่เขิน เราต้องใส่ใจผู้เรียน ต้องสังเกตปฏิกริยา และต้องพร้อมแก้ปัญหาผู้เรียน เนะจึงแนะนำให้เราไปอีกขั้น คือ มองผู้เรียนเหมือนคนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลูกๆ หลานๆ น้อง บางครั้งมองเป็นเพื่อน พี่ หรือ พ่อ แม่ เลย 😆 โดยเฉพาะ อ. เนะเองสอนในมหาวิทยาลัยเปิดที่ผู้เรียนหลากหลายวัยมากๆ

2. พัฒนาตัวเอง (Self Development)

ถ้าเรารักผู้เรียน เราก็ต้องรักการเรียนรู้ด้วย เพื่อพัฒนาตัวเองไปให้เท่าทันผู้เรียน หลักๆ ควรจะพัฒนาใน 2 เรื่อง คือ 
1.ศาสตร์ที่เราสอน เช่น เนะสอนด้านการตลาด ก็ต้องพัฒนาความรู้ด้านนี้ และ
2. ศาสตร์การสอน คือ การสอนอย่างไรให้ดี เช่น ช่วงนี้เนะสนใจการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอนมากขึ้น
การพัฒนาตัวเองมีความสำคัญมาก เพราะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าและเข้าใจผู้เรียนมากขึ้น ลองคิดดูอย่างการตลาดเนี่ย ถ้าเราเผลอลืมพัฒนาตัวเองแปปเดียวตั้งแต่ยุคเว็บไซต์ ตอนนี้ยุคสื่อสังคมและ data analytic และกำลังไปต่อที่ Metaverse และ Data automation หันมองอีกทีเราอาจอยู่ห่างจากความรู้ปัจจุบันมากจนท้อ และไม่ทันต่อผู้เรียนเจเนอเรชันใหม่ไปแล้ว
เช่นเดียวกัน การสอนควรพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะบทบาทเราต้องเปลี่ยนไป ด้วยเนื้อหาปัจจุบันที่มีมากมาย ข้อมูลล้นทะลักในอินเทอร์เน็ต เราไม่อาจเป็นครูผู้รู้ทุกเรื่องได้ แต่เราต้องเป็นครูผู้รู้จักขับเคลื่อนการหาความรู้ของผู้เรียนต่างหาก ดังนั้น เราพัฒนาการสอนเราให้ก้าวหน้ามากขึ้น

3. ยอมรับความหลากหลาย (Open for Diversity)

อย่าไปคิดว่านักเรียนทุกคนเหมือนครั้ง การสอนทุกครั้งเหมือนเดิม ยอมให้เกิดความหลากหลายและปรับตัวกับมัน เราจะไม่เครียด

เนะคิดเสมอว่าการสอนเหมือนการไปเที่ยว เราวางแผนการสอนเตรียมตัวเหมือนจัดของใส่กระเป๋า มีแผนที่ แต่ถึงเวลาอาจมีตรงไหนที่ควรต้องแวะเที่ยว อากาศแปรปรวนต้องหยุดพัก หรือ รถเสีย น้ำมันหมด ห้องเรียนก็เช่นกัน บางทีนักศึกษาอาจเกเร เข้าใจได้ช้า ต้องสอนช้า หามุขมาดึงความสนใจ หรือ อธิบายเพิ่มเติมในบางเรื่อง ถ้าเราทำใจไว้ตั้งแต่ต้น เราจะสนุกกับการสอนมากขึ้น เหมือนเราไปเที่ยวนี่แหละ เนะว่าเป็นสเน่ห์เลยนะคะ เพราะเราได้ลุ้นและปรับตัวไปกับสถานการณ์ที่แตกต่างในแต่ละห้องสอนของเรา 

4. ยิ้มและมีอารมณ์ขัน (Smile and Laugh)

บางทีการเป็นอาจารย์ที่มีความสุข เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เลยคือยิ้ม แค่เราได้เปิดปาก ใจเราเปิดรับนักเรียน และนักเรียนก็จะยิ้มตามเราและเปิดรับเราเข้าไปในใจเช่นกัน

เนะเคยได้รับคอมเมนต์จากเพื่อนๆว่า เธอขมวดคิ้วมากไป ทำให้รู้สึกเครียด ทั้งที่เรื่องที่พูดก็ไม่ได้เครียดอะไร แต่พวกเขารู้สึกกันได้เพราะภาษากายส่งผลต่อการสื่อสารเรามากถึง 55% เกินครึ่งแน่ะค่ะ

เนะเปลี่ยนเลยค่ะ 

ผลพลอยได้คือ เนะมีความสุขขึ้นค่ะ งานวิจัยทางสมองมากมายที่ระบุว่า การยิ้มทำให้เรามีภูมิคุ้มกันมากขึ้น มีความสุขและอายุยืน การวิจัยการตลาดระบุว่า ผู้ให้บริการที่ยิ้มทำให้ลูกค้าพอใจมากขึ้น ดังนั้น การยิ้มระหว่างสอนทำให้ครูมีความสุขได้ทันทีและนักเรียนพลอยมีความสุขด้วยค่ะ

5. แบ่งปันความสำเร็จ (Success Share)

คนสมัยก่อนชอบเปรียบเทียบว่า ครูเหมือนเรือจ้าง ส่งนักเรียนให้ถึงฝั่งแล้วก็ไป เนะว่าเป็นสำนวนที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นอาชีพที่ทำหน้าที่และก็ต้องปล่อยนักเรียนไปตามทาง เราก็ไปรับผู้โดยสารใหม่ยังไงก็ไม่รู้

ลองคิดใหม่ ครูเป็นเหมือนสวนผลไม้ที่สร้างนักเรียนให้เติบใหญ่และรอดูผลแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น แต่เราก็พร้อมมีที่ดินที่ปลูกต้นไม้ใหม่ตลอดเวลา เนะว่าอาชีพครูอาจารย์จะมีความสุขเพิ่มขึ้นได้ทันทีนะคะ เพราะเรามีส่วนในความสำเร็จได้เยอะแยะมากมายเลยค่ะ ทำงานอาชีพอื่นเรามีความสุขแค่เมื่องานส่วนตัวของเราสำเร็จ คูณหนึ่งเท่านั้น แต่อาชีพครูอาจารย์ เรามีความสุขได้เมื่อเห็นความสำเร็จงานเรา ความสำเร็จนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราได้ช่วยพัฒนาเพื่อนอาจารย์ด้วย ก็รวมความสำเร็จเพื่อนอาจารย์ทั้งในและนอกสถาบันอีก คูณได้หลายๆ เท่าเลยค่ะ

ดังนั้น เคล็ดลับนี้เราต้องมีส่วนร่วมและชื่นชมความสำเร็จของนักเรียน และ เพื่อนอาจารย์ อย่างสม่ำเสมอนะคะ ไม่ใช่คนพายเรือจ้างอีกต่อไป




Post a Comment

0 Comments
* Please Don't Spam Here. All the Comments are Reviewed by Admin.
Post a Comment (0)
To Top