เมื่อ ปี พ.ศ. 2556 เนะเริ่มชีวิตการสอนในมหาวิทยาลัยเปิดอย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำให้เนะได้พบความท้าทายความหลากหลายของผู้เรียน หลายต่อหลายครั้งเราเจอนักศึกษาระดับอธิการบดี หรือ รองอธิบดี เรียนร่วมกับแม่บ้านที่เรียนแก้เหงา เกษตรกร น้องๆ พนักงานที่ 7-11 และนักศึกษาขับแท๊กซี่ไปอ่านหนังสือ มสธ.ไป ซึ่งในห้องเรียนช่างแตกต่างทั้งการศึกษาที่ผ่านมา อายุ อาชีพ และประสบการณ์ชีวิต ผู้สอนอย่างเราไม่อาจละเลยความแตกต่างหรือเลือกที่จะโฟกัสแค่กลุ่มที่เราถนัดได้เลย เนะจำได้ว่าเคยเล่าให้นักศึกษาฟังถึงการเกิดขึ้นของ Community Mall ในเขตชานเมือง และนักศึกษาเกินครึ่งไม่รู้จักคำนี้ ทำให้เนะเตือนสติตัวเองเสมอ อย่าเอาตัวเองเป็นหลัก ครูต้องแน่ใจว่านักศึกษาได้เรียนรู้ไปถ้วนทั่วโดยไม่ตกหล่น
หลายคนมาปรึกษาว่า นักศึกษาไม่ตั้งใจเรียน เกเร โดดเรียน เนะเคยพูดไว้ว่า "ในฐานะผู้สอน เราต้องรับผิดชอบพาลูกศิษย์ไปให้ถึงเส้นชัย โดยไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง" ไม่ว่า ลูกศิษย์จะเป็นอย่างไร ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบอันท้าทายของอาจารย์ผู้สอนที่จะขับเคลื่อนความรู้ให้ทุกคนได้เรียนและได้รู้ รวมถึงได้รักที่จะศึกษาร่วมกันไปตลอดชีวิต เรียกว่า ได้ทั้งกายและใจของผู้เรียนให้จงได้
ถึงโจทย์นี้จะยากเย็นเพียงใด เนะยังเชื่อมั่นว่า ความหลากหลาย (Diversity) นำไปสู่การเรียนที่สร้างสรรค์ได้ หากผู้สอนมีกลวิธีที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเปิดอย่าง มสธ.ที่เจอเรื่องความหลากหลาย กระทั่งมหาวิทยาลัยปิดเองก็ตาม เราก็ต้องพบกับความหลากหลายทางความคิด รูปแบบความถนัดในการเรียนรู้ และบุคลิกของผู้เรียน ทั้งที่นักศึกษามีอายุใกล้เคียงกัน
หากรักผู้เรียน เราต้องรักการเรียนรู้พัฒนาตัวเองให้มากพอ
พอเจอนักศึกษาที่แตกต่างหลากหลาย เนะไปอบรมการสอนตามบุคลิกภาพที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้เนะได้ทักษะการสอนและการสื่อสารที่หลากหลายตามบุคลิกภาพผู้ฟังที่ต่างกัน และสามารถให้คำแนะนำนักศึกษารายบุคคลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นักศึกษาบางคนมีบุคลิกแบบ Directive Style เราแค่บอกเป้าหมาย นักศึกษาจะไปทำชิ้นงานได้สำเร็จ นักศึกษาแบบ Impressive Style ต้องได้ออกความคิดเห็นในห้อง และนำเสนอไอเดีย พวกเขาจะมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น เนะตั้งเป้าหมายเลยว่า จบการสอนทุกครั้ง นักศึกษาต้องได้ความรู้ ได้ทดลองคิดทดลองทำและความรักในการเรียน เรียกว่า ได้ทั้ง Head Hand และ Heart เลยทีเดียว
หลังจากนั้น เพื่อพัฒนามาตรฐานกระบวนการการสอนด้วย เนะจึงเลือกจะแสวงหาความรู้จากกรอบแนวคิดทางการศึกษาที่ดีเยี่ยมของโลก และท่านศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยได้นำพาให้พวกเรารู้จักกับ UK PSF (Professional Standard Framework of Teaching) เนะได้เข้าใจขั้นตอนอันเป็นระบบในการพัฒนาผู้เรียนและพัฒนาตัวเองไปตามกัน
นอกจากนี้ ระบบประเมินของ UK-PSF เป็นการประเมินตัวเองจากการสะท้อนในกระบวนการสอนที่เราได้ดำเนินการไป ทำให้เราตกผลึกมากขึ้นว่าทำไมเราจึงทำอย่างนี้ และบางครั้งที่เราตกหล่นขั้นตอนใดไป เราผู้สอน หรือ นักศึกษาผู้เรียนได้ผลกระทบอย่างไร เช่น เนะเคยวางแผนการสอนการตลาดที่มีกรณีศึกษาประกอบ ปรากฎว่า นักศึกษาขาดความเข้าใจกรณีศึกษา เพราะเป็นเคสแบรนด์ต่างประเทศไกลตัวเกินไป แต่ผู้สอนเลือกมาเพราะเรามีข้อมูลและคิดว่าชัดเจน แต่ไม่ได้ทำให้ผู้เรียนเห็นภาพตาม ดังนั้นรอบต่อไป เนะเลือกที่จะศึกษาประวัติผู้เรียนก่อน ถ้าเราได้ประวัติมาจากทะเบียน หากไม่ได้ เราจะเริ่มการสอนด้วยการแนะนำตัวเอง และประวัติโดยย่อ หลังจากนั้น เนะจะปรับตัวอย่างทั้งที่อยู่ในสไลด์ และยกขึ้นมาเล่าด้วยวาจาให้ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันนักศึกษา ประกอบการการเปิดโอกาสให้นักศึกษาประเมินการสอนของครูเป็นระยะ เพื่อปรับปรุงให้พัฒนาผู้เรียนมากที่สุด แต่มิได้ตามใจจนไม่เกิดการเรียนรู้
ถ้าอยากสร้างการศึกษาที่ดี เราต้องพัฒนาเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน
เมื่อก่อนเนะกระดากอายเหลือเกินที่จะไปสอนเพื่อนอาจารย์ ใครเรียกไปสอนเรื่องกลยุทธ์การสอน เนะจะชี้ชวนให้ไปเชิญอาจารย์ท่านนู้นนี้ที่เรารู้จัก ไม่ใช่เพราะขี้เกียจว่าไม่ใช่หน้าที่ แต่เพียงเพราะเราเขินที่ตัวเองไม่ได้จบด้านศึกษาศาสตร์มาโดยตรง จึงมักคิดไปว่า เราไม่น่าไปอวดตัว สอนใครๆ เรื่องศาสตร์การสอน
จากการเข้ารับรอง UK-PSF ระดับ Senior Fellow ประเด็นสำคัญในการประเมินตัวเองเลย คือมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อนอาจารย์ให้ก้าวหน้า ซึ่งตรงนี้ต้องเขียนเคสถึง 2 เคสใหญ่ๆ ที่เราผลักดันเพื่อนอาจารย์ให้พัฒนาการสอนจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง เนะจึงได้นั่งคิดว่า หากเราไม่เรียนรู้จากใครและไปช่วยพัฒนาการสอนให้ใคร ระบบการศึกษาไทยจะไม่รุดหน้าไปไหน เพราะเราต้องเดินไปพร้อมกัน ถึงตัวเนะเองไม่ได้จบด้านการศึกษา แต่ประสบการณ์ในการสอนที่พังบ้างปังบ้างอาจกลายเป็นประโยชน์ในรูปแบบการแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนไอเดีย โดยเราไม่จำเป็นต้องไปสอนสั่งใครในศาสตร์ที่เป็นองค์ความรู้ แค่ชี้ช่องการแสวงหาความรู้ด้านศึกษาศาสตร์ให้เพื่อนๆ อาจารย์ด้วยกัน
เนะจึงเริ่มการแบ่งปันความรู้โดยเฉพาะการสอนออนไลน์ที่เคยได้ทดลองตั้งแต่เริ่มต้นทั้งรูปแบบ Asynchronous คือ ทำสื่อออนไลน์ทิ้งไว้ให้ผู้เรียนได้เรียน หรือ Synchronous สอนโดยตรงกับนักศึกษาผ่าน Virtual Classroom แบบนัดเวลา เนะทดลองหลากหลายรูปแบบ เพียงเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ไปกับเราให้ได้มากที่สุด
นำหลากหลายแผนการสอนและโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้ เพียงเพื่อให้นักเรียนเกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้มากที่สุด
ความท้าทายใหม่ในยุคสถานการณ์ COVID-19 คือ การสอนออนไลน์ที่ต้องเจอทั้งเรื่องข้อจำกัดเทคโนโลยี ข้อจำกัดการปฏิสัมพันธ์ และการสร้างการมีส่วนร่วมและแผนการสอนที่เหมาะสม
กรณีศึกษาการสอนวิจัยธุรกิจรูปแบบออนไลน์
แน่นอนนักศึกษาที่เข้าเรียนการวิจัยในหลักสูตรปริญญาโท ล้วนแต่ไม่เคยทำวิจัยมาก่อน และยังมีความหลากหลายมาจากปริญญาตรีสายศิลป์ สายวิทย์ ทำงานราชการเอกชน การศึกษาด้วยตนเองอาจไม่ค่อยเข้าใจนัก เมื่อมาอยู่ในห้องเรียนด้วยเวลาจำกัด การขับเคลื่อนการเรียนรู้ของนักศึกษาต้องอาศัยการวางแผน ประกอบด้วย การให้นักศึกษาศึกษาผ่านสื่อหนังสือและวิดีโอก่อนเรียน และให้เริ่มทำข้อเสนอการวิจัย เมื่อเข้าสู่ห้องเรียน เนะดำเนินการสอน พร้อมกับให้นักศึกษานำเสนอวิจัยที่ทำมา ครูจะให้คำติชมก่อนตามหลักการวิจัย หลังจากนั้น ครั้งต่อไปให้นักศึกษาเพื่อนร่วมชั้นเป็นผู้วิจารณ์งานของเพื่อนที่นำเสนอด้วยตนเอง เนะเรียกว่า Mentoring Program เพื่อทำให้นักศึกษาจดจำเนื้อหาที่สอนได้ โดยใช้ช่องแชท ไวท์บอร์ด และการเปิดไมค์ใน MS Teams
นักศึกษาจะเริ่มเข้าใจจากการลองติชมงานของเพื่อนไปทีละเล็กละน้อย ภายหลังเสร็จสิ้นการนำเสนอ นักศึกษาเริ่มเข้าใจภาพรวมการวิจัยทั้งหมด ตั้งแต่การตั้งหัวข้อ การเขียนที่มาการวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัย กรอบแนวคิด และรูปแบบวิธีการวิจัยรวมถึงสถิติที่ใช้ เนะจัดกลุ่มนักศึกษาแยกตามหัวข้อวิจัยที่สนใจ เพื่อช่วยเหลือด้วยการอภิปรายเป็นกลุ่มย่อย นักศึกษาจะเกิดความภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการปรับปรุงงานของเพื่อน และขณะเดียวกัน เกิดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน
ภายหลังการเรียน เนะให้นักศึกษาทำแบบประเมินความรู้เปรียบเทียบกับก่อนเรียน รวมถึงประเมินการสอนที่ได้ นักศึกษารู้สึกว่าได้เข้าใจการวิจัยมากขึ้นจากในห้องเรียน ผ่านการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และสามารถนำหัวข้อวิจัยไปพัฒนาต่อในการศึกษาค้นคว้าอิสระเพื่อจบการศึกษาได้ตามเวลา
นอกจากนี้เนะยังคงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้นักศึกษาได้ติดต่อสอบถามเรื่องการวิจัยเพิ่มเติม เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นักศึกษาสมัยใหม่นิยมการสอบถามผ่านช่องแชทในสื่อสังคมมากกว่าการโทรศัพท์หรืออีเมลหาอาจารย์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาเป็นทางการ และสามารถรับคำตอบได้ทันที ถามต่อได้เมื่อยังไม่เข้าใจกระจ่างชัด อย่างไรก็ดี เพื่อตอบปัญหาที่ถามกันมาบ่อย เนะได้จัดทำวิดีโอตอบคำถามง่ายๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยไว้ด้วย เช่น การตรวจ IOC การหาหัวข้อการวิจัย การนำข้อมูลเข้า SPSS เป็นต้น
ดังตัวอย่าง
เนะมีวิดีโออัดเองเกี่ยวกับ 13 เทคนิคในการสอนออนไลน์ไว้ให้ด้วย อยากดูเนะแบบหน้าขาววอกเป็นลิงแนะนำให้คลิกเลย
เร็วๆ นี้เนะจะเข้าไปรับรองเป็น Trainer โปรแกรมประกอบการสอนออนไลน์หนึ่งที่เรียกว่า Classpoint หากเพื่อนๆ สนใจดูที่เนะสอนด้วย Classpoint ลองคลิกดูได้จากวิดีโอนี้ค่ะ
หวังว่าประสบการณ์การสอนของเนะจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน หากสนใจเรื่องกลยุทธ์การสอนออนไลน์ Comment มานะคะไว้เนะจะเขียนและอัดวิดีโอไว้ให้หากมีผู้สนใจ