การตลาดอย่างพอเพียงจะเพียงพอในอนาคตหรือไม่?
(บทความเขียนลงในนิตยสาร Business Plus ฉบับเดือนธันวาคม 2559)
การตลาดกระตุ้นความต้องการผู้บริโภคให้ถึงระดับตัณหา
คือ เกิดความอยากได้อยากมี เพื่อให้เกิดการตัดสินใจซื้อ และส่งผลเพิ่มยอดขายให้ได้มากที่สุด
ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมผลักดันในธุรกิจเติบโตและขยายการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันจากการลดต้นทุนการผลิต
เพราะเมื่อจำหน่ายหลายประเทศ ธุรกิจจะได้รับยอดสั่งซื้อเพื่อผลิตมากยิ่งขึ้น จนทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงจนต่ำที่สุดตามหลักคิดที่เรียกว่า
การประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) การขยายธุรกิจนี้ต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล
จนต้องเกิดภาระการกู้ยืม ภาวะอันตรายคือ เมื่อขีดความสามารถในการจับจ่ายของผู้บริโภคไม่อาจฉุดให้เพิ่มสูงขึ้นอีกต่อไปได้อีก
การเพิ่มยอดขายไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ภาวะหนี้สินรัดตัวทำให้ธุรกิจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการหยุดชะงักของการขยายตัวของยอดสั่งซื้อ
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำถามว่าเศรษฐกิจระบบทุนนิยมที่เน้นการเติบโตของธุรกิจอย่างบ้าคลั่ง
และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเลือกทำแต่งานที่ชำนาญให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด
การดำเนินการตลาดแบบนี้ยังคงดำเนินไปได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืนจริงหรือไม่คำโต้แย้งเกิดขึ้นอีกด้านเช่นกัน ถ้าธุรกิจหยุดชะงักการขยายตัวเพื่อตอบสนองอุปสงค์จากการดำเนินตามเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจ และปล่อยให้คู่แข่งเติบโตจนเกิดเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันที่แซงหน้าเราไปหรือไม่ นั่นคือ การตลาดแบบพอเพียงจะทำให้ธุรกิจเราย่ำอยู่กับที่ หรือ ถอยหลังในระยะยาวหรือไม่
ทำความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเสียก่อน
เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy) เป็นหลักการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงชี้นำแนวทางให้แก่พสกนิกรชาวไทยตั้งแต่ปี พศ. 2516 เป็นเวลาถึง 24 ปีก่อนประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกในปี พศ. 2540 ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่สุดในการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกใบนี้พระราชดำรัสเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธันวาคม 2516
"ทฤษฎีใหม่นี้มีไว้สำหรับป้องกัน หรือถ้าในโอกาสปกติ ทำให้ร่ำรวยขึ้น ถ้าในโอกาสที่มีอุทกภัยก็สามารถ ที่จะฟื้น ตัวได้ โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างดี"
"ขอให้ทุกคนมีความปราถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความ สงบ เปรียบเทียบ กับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ฉะนั้น ถ้าท่าน ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิด และมีอิทธิพลมีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวม ให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ ตลอดกาล"
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาดุสิตาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำมาสู่แนวคิดการดำเนินธุรกิจ 3 ประการบนพื้นฐาน 2 เงื่อนไข คือ
2. ความมีเหตุผล (Reasonableness) หมายถึง การตัดสินใจทางธุรกิจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3. การมีภูมิคุ้มกันทีดีในตัว (Self-Immunity) หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
ทั้งสามประการอยุ่ภายใต้ 2 เงื่อนไข อันประกอบด้วย
-เงื่อนไขคุณธรรม คือ การยึดถือคุณธรรมต่าง ๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ประยุกต์ใช้ปรัชญา
ยูเนสโกยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเปี่ยมคุณค่าเหมาะสมกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และสมควรนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ต่างๆ ในช่วงเดือนมิถุนายน คศ. 2012 ยูเนสโกจัดนิทรรศการและการประชุมเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหัวข้อ Towards a Sufficiency Economy: A New Ethical Paradigm for Sustainability ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโกในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
การตลาดดำเนินรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ในเวทีด้านการตลาด นักการตลาด ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการต่างหยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประสานกับแนวคิดทางด้านการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ศาตราจารย์ ฟิลิป คอตเลอร์ กล่าวถึงการตลาดแบบรับผิดชอบต่อสังคม ในการตลาด 3.0 ธุรกิจจำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความสุข โดยประกอบธุรกิจที่ไม่เพียงแค่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค ยังต้องคำนึงถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบนโลกใบนี้ ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์บรรยายถึงในหนังสือการตลาดพอเพียง (Sufficient marketing) เป็นการเสนอคุณค่าที่เหมาะสม โดยไม่มุ่งแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวว่าเป็นการตลาดแห่งความสุข ที่ผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบและพอเพียงด้วยจิตสำนึกที่มีเพียงพอ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล บริษัทแบรนด์บีอิ้ง กล่าวถึงการพัฒนาแบรนด์อย่างยั่งยืนต้องอาศํยการสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง (Sufficient branding) ที่การรู้จักประมาณตน คือ รู้จุดแข็งของแบรนด์ตน การมีเหตุผล คือ บริหารแบรนด์อย่างมีกลยุทธ์ และการมีภูมิคุ้มกันคือ การเตรียมแผนรองรับความเสี่ยง ดิฉันเองเขียนไว้ในหนังสือ พุทธะมาร์เก็ตติ้ง (Buddha marketing) ร่วมกับทันตแพทย์สม สุจีรา ถึงปรากฎการณ์การตลาดที่ต้องเน้นการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มุ่งประโยชน์แก่สังคม ซึ่งตรงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วสุดท้ายธุรกิจที่ดำเนินอย่างมีคุณธรรมย่อมได้รับผลกรรมดีตอบแทนกลับมาเอง ทั้งที่เป็นตัวเงินและความเชื่อมั่นของลูกค้าผู้บริโภค ที่พร้อมจะบอกต่อโดยไม่ต้องพึ่งค่าจ้างค่าโฆษณาแต่อย่างใดกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาใช้ในทางการตลาดได้เป็นอย่างดี
พร้อมตัวอย่างธุรกิจที่จัดการทางการตลาดได้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นแล้ว
ดังต่อไปนี้
การพอประมาณ
คือ การเลือกจุดแข็งของแบรนด์ หรือ การเลือกโอกาสที่เหมาะสมกับธุรกิจ
โดยไม่โลภขยายตลาดจนใหญ่เกินกำลัง (Mass market) ทำให้ธุรกิจไม่ลงทุนจนเกินไป
หรือ โปรโมทไปกว้างขวางจนขาดอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นตัวของตัวเอง ข้อดีคือ
ธุรกิจลงทุนต่ำลง เพราะมุ่งเน้นเฉพาะตลาดที่สนใจ ที่ถนัด (Selected Market)
ทำให้ลูกค้าจดจำจุดเด่นของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี
ธุรกิจต้องพิจารณาการขยายตัวให้เหมาะสมตามโอกาสของแบรนด์นั้นๆ
หากแบรนด์มีจุดโดดเด่น หรือมีนวัตกรรมที่เป็นที่สนใจในวงกว้าง
ก็สมควรต้องขยายตลาดให้กว้างขวางตามศักยภาพของผลิตภัณฑ์
มิฉะนั้นอาจถูกทดแทนด้วยคู่แข่งขัน ดังนั้น คำว่า พอประมาณ
จำต้องอาศํยวิจารณญานในการประมาณการณ์ของเจ้าของกิจการร่วมด้วย
ตัวอย่าง ตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดน้ำเล็กๆ
ในจังหวัดสมุทรสงครามที่ประสบความสำเร็จทางการตลาดด้านท่องเที่ยว
ด้วยทิศทางการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการ เริ่มต้นจากห้องแถวเล็กๆ เพียง 6 ห้องโดยการสนับสนุนของมูลนิธิชัยพัฒนา ปัจจุบันสานต่อขยายถึง 200 หลังคาเรือน แต่ยังคงเน้นการจัดการแบบพอประมาณ
ควบคุมให้การจัดจำหน่ายสินค้าเป็นไปอย่างหลากหลาย ไม่ขายสินค้าพร่ำเพรื่อ ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันเองและขาดเอกลักษณ์
นอกจากนี้ตลาดน้ำอัมพวาจำกัดการจำหน่ายเฉพาะช่วงกลางคืน และควบคุมให้ผู้ประกอบการเป็นชาวบ้านท้องถิ่นอย่างแท้จริง
เหล่านี้เป็นการจัดการการตลาดอย่างพอประมาณ เพื่อประโยชน์แท้จริงของชุมชน
ความพอประมาณของตลาดน้ำแห่งนี้
ทำให้เกิดความดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากภาพลักษณ์ที่เป็นสินค้าท้องถิ่นที่ไม่แสวงหากำไรเกินควร
และชุมชนร้านค้าหมั่นดูแลท้องน้ำให้ใสสะอาด ปรับปรุงทัศนียภาพบ้านเรือน โดยการขับเคลื่อนทั้งหมดเกิดจากการมีส่วนร่วมทางความคิดของคนในท้องถิ่นที่ต้องการดำเนินธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
https://incubator.wikimedia.org/wiki/Wy/th/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%B2
ความมีเหตุผล
คือ การตลาดโดยพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ การวิจัยผู้บริโภคและสภาพการแข่งขัน
เพื่อใช้ประกอบเป็นเหตุผลในการตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ
นั่นคือ การการจัดการตลาดโดยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม หรือ อาจเรียกได้ว่า มีการดำเนินการตลาดอย่างมีกลยุทธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล
สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการตลาด จึงได้รับผลตอบรับที่ดีจากสังคมภายนอก
ข้อดีที่ชัดเจนของความมีเหตุผล คือ ธุรกิจดำเนินงานอย่างมีทิศทาง
และลดโอกาสเสี่ยงจากความล้มเหลว เปรียบเหมือนการขับรถโดยมีแผนที่ ย่อมไม่สะเปะสปะ
หรือ หลงทิศหลงทางไปอย่างแน่นอน ซึ่งความล้มเหลวหมายรวมถึงการเสียเวลา
เสียแรงงานและเสียเงินลงทุนจากความผิดพลาดของการขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
ข้อควรระวังคือเหตุผลที่ใช้ประกอบควรนำมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
หรือกระบวนการหาข้อมุลที่เป็นระบบ รวมถึงต้องหมั่นตรวจสอบผลตอบรับจากตลาดเพื่อปรับปรุงอยู่เสมอ
ตัวอย่าง
ห้างสรรพสินค้าเอกชนอย่าง Terminal21 เป็นพื้นที่ห้างฯ แยกอโศก
เพื่อรองรับผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวและคนทำงานย่านออฟฟิสแถบสุขุมวิท คุณอนันต์
อัศวโภคิน ใช้การตลาดอย่างมีเหตุผลในการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ Terminal21 ห้างใหม่ใจกลางเมืองย่านอโศก ซึ่งทุกคนคาดเดาว่าควรเรียกค่าเช่าที่แพง
อาหารการกินราคาระดับห้างหรูในย่านสุขุมวิท
แต่คุณอนันต์ทำทุกอย่างตรงข้ามกับสิ่งที่คาดหวัง
เนื่องจากได้สำรวจดูว่าคนทำงานย่านสุขุมวิทล้วนแต่ประสบปัญหาขาดแคลนของกินดีๆ
ในราคาถูก คุณอนันต์จึงจัดสรร food
court ของ terminal 21 ให้รวมเหล่าร้านอาหารชื่อดังย่านต่างๆ
และคิดราคาเพียงจานละ 30 บาท ทางห้างฯ เป็นฝ่ายยอมขาดทุนเพื่อให้ราคาอาหารถูกลง
ด้วยเหตุผลว่าอาหารรสเลิศในราคาถูกนี้จะเป็นการบรรเทาปัญหาของลูกค้าบริเวณนั้น
และทำให้ลูกค้าพากันเข้าห้าง Terminal21
งบประมาณที่ทางห้างยอมขาดทุนไปกับศูนย์อาหาร
แท้จริงแล้วยังถูกกว่าค่ากิจกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ห้างทั่วไปต้องใช้ในการดึงคนเข้าห้างเสียอีก
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นการตลาดที่เป็นเหตุผล
บนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรมอย่างแท้จริง ส่งผลให้ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
เป็นการตลาดที่พึ่งพาตัวเองได้ โดยการบูรณาการห่วงโซ่คุณค่า (Value
Chain) หรือ สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อบูรณาการคุณค่าร่วมกัน
ข้อดีของการมีภูมิคุ้มกัน คือ ช่วยลดความเสี่ยงทางการตลาด จากอำนาจการต่อรองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและแรงกดดันการแข่งขันจากบรรดาคู่แข่ง
เนื่องจากการบูรณาการหรือการสร้างเครือข่ายช่วยลดช่องว่างของการแทรกแซงจากคู่แข่งขัน
ข้อพึงระวังคือ การแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของเครือข่าย
รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเครือข่ายไปพร้อมกัน
ตัวอย่าง โครงการหลวงดอยคำตั้งขึ้นมาในรูปสหกรณ์และโรงงาน
เพื่อรับซื้อตรงเพื่อรับซื้อผลผลิตเกษตรกรที่หันจากการปลูกฝิ่นมาปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวทดแทน
อาทิ มะเขือเทศ ลิ้นจี่ แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง
โครงการหลวงดอยคำจึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เครือข่ายเกษตรกร ปัจจุบัน จากโรงงานเล็กๆ
ขยายตัวเป็น บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจตามแนวพระราชดำริ
“อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อพัฒนาชนบท” โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้หลัก คือน้ำมะเขือเทศดอยคำ ถือส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% และยอดขายเติบโตทุกปีตอบสนองกระแสห่วงใยสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีซื้อสินค้าโครงการหลวงดอยคำ
เนื่องจากชื่นชอบในปนิธานการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าราคาจะแพงกว่าคู่แข่งก็ตาม
อีกตัวอย่างเกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
การพลิกฟื้นนำสมุนไพรไทยที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีทางเภสัชกรรมสมัยใหม่
ถือเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้จริงของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยผู้บุกเบิกริเริ่มพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศรตั้งแต่ปี
พศ. 2526 คือ เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจการใช้สมุนไพร
ได้เริ่มต้นเรียนรู้ภูมิปัญญา เดินสำรวจป่า และเก็บรวบรวมข้อมูลที่สะสม
มาหลายชั่วอายุคน จากหมอยาพื้นบ้าน และได้วางแนวทางพัฒนา “จากใบไม้ให้กลายเป็นยา”
ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อบริการแก่ประชาชน
อันเป็นภูมิปัญญาโบราณที่สั่งสมขึ้นมายาวนานเข้าด้วยกัน
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของอภัยภูเบศร์เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านนำรายได้กลับสู่ประเทศ
สร้างงานให้แก่ประชาชนในพื้นที่
รวมถึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย
ต่อยอดสู่ร้านค้าสมุนไพรอภัยภูเบศร์ออนไลน์
ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในแก่ชุมชนด้วยการสร้างคุณค่าอย่างบูรณาการอย่างแท้จริง
เครดิตภาพ http://www.abhaiherb.net/th/content/6-aboutabhaiherb
แนวปฏิบัติสำหรับการตลาดอย่างพอเพียง (Sufficient Marketing)
1. ตั้งเป้าหมายทางการตลาดเพื่อสร้างคุณค่าแก่ผู้บริโภค
(Brand Value is key objective)เป้าหมายหลักมิใช่ผลกำไรเป็นอันดับหนึ่งและเป็นเป้าหมายเดียว
ให้ธุรกิจถือว่าผลกำไรเป็นผลตอบแทนจากการมอบคุณค่าทางการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น
เพราะผู้บริโภครักและศรัทธาในแบรนด์ จึงยอมจ่ายเป็นราคาที่สมเหตุสมผล
เช่นเดียวกันกับที่ผู้บริโภคยอมซื้อผลิตภัณฑ์ดอยคำในราคาที่สูงกว่าแบรนด์อื่น
เพราะเชื่อมั่นในคุณค่าของแบรนด์อย่างลึกซึ้ง
2. สร้างเครือข่ายห่วงโซ่คุณค่าที่แน่นแฟ้น
( Build valuable supply chain) นักธุรกิจที่ใส่ใจซัพพลายเออร์ คู่ค้า บุคลากรในองค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างจริงใจ
ย่อมได้รับคุณภาพการบริการที่ดีไปด้วย
ไม่มีใครอยากทำงานร่วมกับนักธุรกิจที่คอยจะกดราคาวัตถุดิบ
และไม่แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเหมาะสม
ซึ่งการเอาใจเขามาใส่ใจเราและแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกันทำให้ผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
3. วางตำแหน่งทางการตลาดที่มีขอบเขตชัดเจนและรอบคอบ
(Plan clear and appropriate positioning) ควรวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับแบรนด์
ไม่มุ่งหมายตลาดที่กว้างมากไปหรือแคบจนเกินไป และธุรกิจควรเลือกตลาดเป้าหมายที่เหมาะสมกับเงินลงทุน
โดยไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินมาขยายตลาด จนทำให้ธุรกิจอยู่ในภาวะตึงเครียด อาจใช้การหาผู้ร่วมทุนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาลงทุนขยายตลาดไปด้วยกัน
เช่น แบรนด์ของตลาดน้ำอัมพวาที่ค่อยๆ
ขยายตลาดและให้การระดมความคิดจากชุมชนในการลงทุนร่วมกัน
4. แบ่งปันกำไรคืนกลับให้แก่สังคม
(Return for society) ธุรกิจควรสร้างแบรนด์จากการสนับสนุนโครงการ CSR ต่างๆ ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์
เพราะสร้างการตลาดที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมในการดูแลสังคม เช่น แบรนด์กระดาษดับเบิ้ลเอ
สนับสนุนการปลูกป่าและนำกระดาษหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
ธุรกิจบริการที่รับพนักงานทุพพลภาพส่วนหนึ่งมาร่วมทำงาน เป็นต้น
5. หมั่นพัฒนาจากการค้นคว้าหาความรู้และใช้ความรู้ในการพัฒนาแบรนด์ (Develop brand from knowledge
management) ธุรกิจควรหมั่นค้นคว้าวิจัยและนำองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ
รวมถึงพัฒนาบุคลากรในองค์กร การพัฒนาต่อเนื่องเพื่อตอบสนองสภาพการตลาดที่เปลี่ยนไปถือเป็นการตลาดที่เป็นเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง
ทำให้ธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับแบรนด์สมุนไพรอภัยภูเบศร์ที่เริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ไม่กี่อย่างจนปัจจุบันสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากมายหลายร้อยรายการ
และริเริ่มการจัดจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์เพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่
การตลาดอย่างพอเพียง (Sufficient Marketing) อันเกิดขึ้นจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 9 ถือเป็นแนวคิดที่มีหลักการชัดเจนลึกซึ้ง ทำได้จริงดังตัวอย่าง
และสอดคล้องกับแนวคิดการตลาดเพื่อสังคมและหลักคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงหลักทางสายกลางในศาสนาพุทธ
ถือเป็นการตลาดเชิงสร้างสรรค์ที่ทำให้เจ้าของธุรกิจและสังคมรอบข้างมีความสุขสงบ
นักธุรกิจสมควรประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการตลาดของตนให้มั่นคงยั่งยืน