ขุมทรัพย์โอกาสของแบรนด์ความงาม Cosmetic Marketing

0


ขุมทรัพย์แบรนด์ความงามอยู่ในทวีปเอเชียเรานี่เอง

     

cosmetic, marketing, branding , การตลาด, beauty, online marketing, digital marketing, asia

สำนวนไทยโบราณที่บอกว่า ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง เป็นคำกล่าวที่ยังคงใช้ได้เสมอ แถมกลายเป็นกระแสนิยมที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้คนสมัยใหม่สนใจให้ความสำคัญกับหน้าตาบุคลิกส่วนบุคคล รูปร่างหน้าตาที่สวยงามจึงเปรียบประหนึ่งบานประตูที่เปิดตัวเองสู่การยอมรับในสังคมและความสำเร็จในชีวิต ผู้คนยอมรับว่า เมื่อพวกเขามีหน้าตาและบุคลิกที่ดูดีขึ้น พวกเขาสามารถหางานที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ตราบใดก็ตามที่เรายังต้องแนบรูปถ่ายไปกับเอกสารการสมัครงาน แถมยังส่งผลต่อเนื่องต่อความก้าวหน้าด้านการงานและสังคมมากขึ้นไปด้วย
ปัจจุบันเทรนนวัตกรรมแบรนด์ความงามแบบเอเชียก้าวหน้าจนกลับกลายเป็นที่ยอมรับทั่วโลก  ครีม BB เอนกประสงค์ทั้งบำรุงผิว รองพื้น และกันแดด การใช้ครีมสกัดจากเมือกหอยทากเพื่อคงความชุ่มชื้นบนใบหน้า การเขียนกรีดขอบตาด้วยเส้นดำของอายไลน์เนอร์ ล้วนแพร่กระจายความนิยมนำกระแสความงามในโลกไปแล้ว เครื่องสำอางค์บำรุงผิว SKII ที่ผลิตจากบริษัทชิเชโดประเทศญี่ปุ่นนำเสนอภูมิปัญญาความงามของประเทศญี่ปุ่นได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลก สีชมพูสว่างที่เป็นที่นิยมในเอเชียจากกระแสนิยมของผู้ชมที่เห็นบนริมฝึปากของนางเอกหนังซีรี่ย์เกาหลี My Love from the Star ทำให้ Yves Saint Laurent และ MAC ต้องออกเฉดสีลิปติกสีนี้มากขึ้น การใช้ฟองน้ำชุบรองพื้นจนชุ่มที่เรียกว่า Cushion เพื่อทาหน้าให้เรียบเนียนของบรรดาแบรนด์เกาหลีกระตุ้นให้แบรนด์ตะวันตกชื่อดังอย่าง Lancôme ต้องออกรุ่น Cushion มาเช่นกัน
ถือว่าการตลาดแบรนด์ความสวยความงามในเอเชียมีความก้าวล้ำนำหน้าทั้งแง่ยอดขาย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ รวมถึงผู้บริโภคมีความตื่นตัวในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูง จนบรรดาแบรนด์ระดับโลกยกให้ตลาดเอเชียเป็นตลาดชั้นนำ (Lead Market) ที่ใช้ในการวางเทรนแนวทางการตลาดผลิตภัณฑ์ความสวยงามก่อนที่อื่นใดในโลก
ขุมทองเอเชียแหล่งนี้เร้าใจในการทำตลาด แต่ก็เป็นสนามแข่งขันอย่างดุเดือด ธุรกิจจำเป็นต้องติดตามเทรนผู้บริโภค เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่มัดใจผู้บริโภคยุคนี้

แนวโน้มผู้บริโภคเอเชียในธุรกิจความสวยงาม

ธุรกิจต้องตอบสนองให้ได้ต่อแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคเอเชียที่สำคัญ  6 ประการ เพื่อพัฒนาแบรนด์ความสวยความงามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

1. ผู้บริโภคสนใจการสื่อสารและซื้อผลิตภัณฑ์ออนไลน์มากยิ่งขึ้น 

จากเดิมกลุ่มผลิตภัณฑ์ความสวยงามจำหน่ายมากที่สุดในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต ปัจจุบันแนวโน้มการจำหน่ายปรับเปลี่ยนสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์จะมียอดขายจากช่องทางออนไลน์เติบโตเฉลี่ย 10% ในแต่ละปี ขณะที่ยอดขายช่องทางร้านค้าออฟไลน์หดตัวลง ทุกแบรนด์ต้องพัฒนาการสื่อสารและจำหน่ายเชิงรุกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อตอบรับความนิยมของผู้บริโภคมากที่สุด Jeban.com เป็นเว็บรีวิวเครื่องสำอางค์ระหว่างผู้บริโภคโดยเฉพาะ Zalora.com เปิดส่วน Beauty shop สำหรับจำหน่ายเฉพาะสินค้าความสวยความงาม


2. ผู้บริโภคใส่ใจนวัตกรรมและวัตถุดิบจากธรรมชาติ 

บริษัท Organic monitor รายงานตัวเลขการเพิ่มขึ้นของเครื่องสำอางค์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมากขึ้นกว่า 15 % ในแต่ละปี เครื่องสำอางค์ทุกแบรนด์มุ่งคิดค้นการนำวัตถุดิบธรรมชาติมาเป็นส่วนผสมในสินค้าใหม่ เช่น ต้นไผ่ สารสกัดจากลิ้นจี่ หรือเห็ดหลินจือ Oriental Princess เป็นเครื่องสำอางค์แบรนด์ไทยที่ชูจุดขายว่า ใช้ส่วนผสมสกัดจากธรรมชาติ

3. กลุ่มผู้บริโภคชาย (Metropolitan) เป็นกลุ่มที่เพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น เว็บไซต์ apacmarket.com รายงานส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์ความสวยงามจากผู้บริโภคชายมาถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะผู้ชายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมือง  ทำงานออฟฟิสแบบ white collar นิยมเล่นกีฬารักษาหุ่นในฟิตเนส ซึ่งเหมารวมทั้งกลุ่มชายแท้ และกลุ่มเพศที่สาม บรรดาชายหนุ่มกลุ่มนี้จะรักษาภาพลักษณ์ตนเองมากเป็นพิเศษ หลายต่อหลายแบรนด์อย่าง Nevia Za Faceshop ขยายฐานลูกค้ามาครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคชายมากยิ่งขึ้น ผ่านการออกผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มผู้ชายและชายหนุ่มหน้าตาดีแนว Metro เป็นพรีเซนเตอร์

4. ความนิยมผลิตภัณฑ์ความสวยงามจากประเทศเกาหลีกำลังมาแรง 

ถึงแม้ตลาดแบรนด์สวยงามในประเทศญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับสองในโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่ตัวเลขยอดขายประเทศเกาหลีขยายตัวขึ้นเป็นอันดับสาม ระยะหลัง แบรนด์เกาหลีพัฒนาการตลาดอย่างก้าวกระโดดจนเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะนำเสนอเทคโนโลยีใหม่และราคาที่เอื้อมถึง รวมกับกระแส K-drama เห็นได้ชัดจากความนิยมเครื่องสำอางค์เกาหลีที่ท่วมท้นจากผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูงอยู่ในช่วงเวลานี้ จึงบอกได้เลยว่าแบรนด์เกาหลีกำลังนำเทรนผู้บริโภคเอเชียอย่างแท้จริง


5. ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skin care) ยังเป็นกลุ่มที่มียอดขายนำ 

ตัวเลขตลาดเครื่องสำอางค์ทั่วโลกในปี คศ. 2015 กลุ่มบำรุงผิวพรรณหรือ skin care ครองแชมป์ส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 36 ดังนั้น ผลิตภัณฑ์กลุ่ม skin care เป็นกลุ่มที่ยังขายได้และขายดีในตลาด ในประเทศไทยเอง ยอดขายสกินแคร์มีมูลค่าในประเทศประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี โดยร้อยละ 90 เป็นผลิตภัณฑ์เน้นความขาวใส จากข้อมูลของ Mintel ที่ทำการสำรวจในเอเชียพบว่า ผู้บริโภคประเทศเกาหลีใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมากที่สุด รองมาคือประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ลือกันว่า สาวเกาหลีใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมากถึง 13 ตัวในแต่ละวันทีเดียว

6. การขยายตัวของทางลัดความงามด้วย cosmetic surgery 

ผู้บริโภคยอมรับความงามแบบก้าวกระโดดด้วยการศัลยกรรมมากขึ้น ตัวเลขการเสริมความงามด้วยศัลยกรรมมาแรงมากขึ้น การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเสริมความงามเริ่มเป็นที่นิยม สื่อประเทศเกาหลีโปรโมทอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามอย่างชาญฉลาดผ่านรายการ Let me in ศัลยกรรมพลิกชีวิต ที่ขยายมาถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ประเทศไทยเองก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้าน cosmetic surgery รองรับทั้งผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศด้วยเช่นกัน
(โดยส่วนตัว ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้มีปัญหานะคะ แต่อย่าให้ถึงขนาดเสพติดการศัลยกรรมหรือเสียเงินไปสวยทางลัดโดยไม่จำเป็นเลย)


Post a Comment

0 Comments
* Please Don't Spam Here. All the Comments are Reviewed by Admin.
Post a Comment (0)
To Top