ประเทศไทยยังมีโอกาสหรือไม่? เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวเรือสำราญกำลังเติบโตในเอเชีย

0
เขียนโดย  เภสัชกรหญิง ดร.อโณทัย งามวิชัยกิจ

ธุรกิจเรือสำราญเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเริ่มจากทวีปอเมริกาและยุโรป ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ฝั่งทวีปออสเตรเลียและเอเชีย นักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักและนิยมการท่องเที่ยวเรือสำราญเช่นเดียวกับชนชาติตะวันตก เรือสำราญผสมผสานการให้บริการโรงแรม กิจกรรมนันทนาการ และการขนส่งด้วยกัน ภายในเรือมีอุปกรณ์ให้บริการไม่ว่าจะห้องพัก ห้องอาหาร เวทีการแสดง คาสิโน ร้านค้าปลอดอากร ฟิสเนส สระว่ายน้ำ และเสริมด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้โดยสารในวัยและเชื้อชาติต่างๆ การล่องเรือจำเป็นต้องอาศัยท่าเรือจุดจอด (homeport) เพื่อเป็นสถานีรับนักท่องเที่ยวทั้งละแวกภูมิศาสตร์ใกล้เคียง (Drive Cruise) และภูมิศาสตร์ห่างไกลที่ต้องบินมาขึ้นเรือ (Fly Cruise) และยังต้องใช้ท่าเรือแวะพัก (Port of Call) ต่างๆ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้ตัดสินใจเที่ยวกับเรือสำราญ
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญเติบโตขึ้นมากกว่า 20% ธุรกิจเรือสำราญมีการจ้างพนักงานมากขึ้นกว่า 10% การเติบโตของธุรกิจเป็นผลมาจากส่วนแบ่งตลาดของทวีปเอเชียที่เติบโตขึ้นกว่า 2.4% ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีจำนวนผู้โดยสารชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญจากทวีปเอเชียทั้งหมดในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวน 1.4 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน 679,000 คน ตามด้วยนักท่องเที่ยวประเทศสิงคโปร์ 163,000 คน นักท่องเที่ยวไต้หวันและญี่ปุ่น 137,000 และ 119,000 คน ตามลำดับ จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยมีเพียง 5,400 คนเท่านั้น บริษัทเรือสำราญทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในทวีปเอเชีย เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเอเชียที่เริ่มสนใจการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญมากยิ่งขึ้น

ท่องเที่ยวเรือสำราญ,อันดามัน,Cruise,ภูเก็ต,logistics,ท่าเรือประเทศไทย,เศรษฐกิจ,




ท่าเรือที่ให้บริการในทวีปเอเชีย
เราสามารถแบ่งท่าเรือและเขตการท่องเที่ยวทางเรือในทวีปเอเชียได้เป็น 3 ภูมิภาคย่อยๆ ได้แก่
1. ท่าเรือเอเชียตะวันออก (East Asia) ประกอบด้วย ท่าเรือในประเทศจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กันทั้งสามประเทศ ทำให้สามารถเดินทางไปมาหากันได้ นักท่องเที่ยวประเทศจีนและญี่ปุ่น ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก เสริมด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติสวยงามและหลากหลาย ขณะนี้ท่าเรือในประเทศจีนถือว่ามีบทบาทหลักในแถบนี้ อันเนื่องจากนักท่องเที่ยวประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
https://www.travelchinaguide.com/cruise/china-korea/


2. ท่าเรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) ประกอบด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ถือเป็นภูมิภาคย่อยของเอเชียอันดับที่สองรองลงมาจากเอเชียตะวันออกที่รองรับการท่องเที่ยวเรือสำราญ เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ธรรมชาติสวยงามในราคาคุ้มค่า ประกอบกับภูมิอากาศที่ล่องเรือได้ตลอดทั้งปี ขณะนี้ถือว่า ท่าเรือสิงคโปร์มีบทบาทหลัก  และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญ โดยประเทศอื่นเป็นเพียงท่าเรือแวะพัก (Port of Call) เพื่อการท่องเที่ยว

3. ท่าเรือเอเชียใต้ (South Asia) ประกอบด้วย ศรีลังกา มัลดีฟ อินเดีย ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่ยังมีจำนวนเรือสำราญแวะพักน้อยที่สุด แต่เป็นที่จับตามองอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงมาก โดยเฉพาะความนิยมท่องเที่ยวเรือสำราญของชาวอินเดีย ท่าเรือยังไม่มีประเทศใดเป็นประเทศหลักที่มีการพัฒนาท่าเรือที่ทันสมัยเพียงพอรองรับเรือขนาดใหญ่ และต้อนรับเรือสำราญจำนวนมากได้ เร็วๆ นี้คาดว่า ประเทศอินเดียน่าจะพัฒนาท่าเรือขึ้นมาตอบรับโอกาสการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ได้

ท่าเรืออันดามันของไทยกับการแข่งขันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

       แถบอันดามันของไทยเป็นตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่มีความได้เปรียบทางการท่องเที่ยว ไม่ว่าน่านน้ำทะเลที่คงความสวยงาม และยังสามารถต่อเรือไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านได้หลากหลายทั้งเวียดนาม พม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ จึงคงความเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ  ในแต่ละปี เรือสำราญทั้งจากประเทศในกลุ่มยุโรป  เช่น เรือ P&O เรือ C Columbus  เรือ Funchal  เรือ Astor เรือ Silver Shadow เรือ Nautica เรือ Marco Polo เรือ  Crystal Symphony เรือ Star Flyer และเรือ  Seabourn Spirit เป็นต้น และเรือจากประเทศสหรัฐอเมริกา Royal Caribbean Cruise หรือ Carnival Cruise Line ล้วนเข้ามาภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้น  ปี คศ. 2006 ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภูเก็ตโดยเรือสำราญทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 199,690  คน   นักท่องเที่ยวที่ล่องเรือสำราญส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มศักยภาพสูง  พบว่ายอดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวมีปริมาณเม็ดเงินสูงกว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางบนดินปกติอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ภูเก็ตมีศักยภาพในการรับนักท่องเที่ยวเรือสำราญ แต่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตยังคงไม่สามารถรองรับเรือสำราญได้ทั้งหมด เนื่องจากขนาดและโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเป็นข้อจำกัด ประมาณร้อยละ 40 ของเรือต้องเลี่ยงไปเทียบท่าที่อ่าวป่าตอง นอกจากนี้ เราต้องยอมรับว่า การดำเนินการท่าเรือแวะพักรองรับนักท่องเที่ยวและสร้างธุรกรรมเชิงบวกแก่เศรษฐกิจประเทศได้ต่ำกว่าการเป็นจุดจอดเรืออย่างชัดเจน ทั้งที่ภูเก็ตมีความได้เปรียบด้านธรรมชาติสถานที่ท่องเที่ยว ทำเลที่ตั้ง รวมถึงความพร้อมด้านสนามบิน ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับโอกาสการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในเอเชียที่ส่งผลต่อความต้องการท่าเรือเพิ่มมากขึ้น
http://phuketwan.com/tourism/phuket-pie-sea-ferry-diverts-attention-improving-phukets-port-18092/

ประเทศสิงคโปร์เห็นโอกาสธุรกิจท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชียเช่นกัน รัฐบาลไม่รอช้าในการทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างท่าเรือเพื่อรองรับเรือสำราญที่เพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนและขนาด โดยสร้างท่าเรือแห่งที่สองแล้ว ชื่อ Marina Bay Cruise Center ที่มีขนาดใหญ่กว่าท่าเรือแรกคือ Singapore Cruise Center


ประเทศไทยจึงเผชิญจุดตัดสินทางกลยุทธ์เศรษฐกิจว่าจะลงมือพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับโอกาสเหล่านี้หรือไม่ การพัฒนาท่าเรือจำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุน ความรู้ความเข้าใจในระบบท่าเรือสมัยใหม่ รวมถึงการสร้างกลยุทธ์การดึงดูดสายเรือทั่วโลกให้เข้ามาใช้บริการ เพื่อคืนต้นทุนทางธุรกิจให้แก่ประเทศ อย่างไรก็ดี การเข้าแข่งขันท่าเรือระดับภูมิภาคย่อมช่วยสร้างธุรกิจและเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศให้แก่คนในชาติ หากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาขึ้นเรือไหลเวียนให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ และทำให้ต้นทุนมหาศาลในการสร้างท่าเรือกลายเป็นเรื่องคุ้มค่าขึ้นมาได้ แต่ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างท่าเรือด้วยกัน โอกาสงามๆ มีไว้รอท่า(เรือ) อยู่ไม่นานนัก............................


เอกสารอ้างอิง
เอกสารประกอบการประชุม Seatrade Cruise Asia 2016
CLIA 2014
http://www.etatjournal.com/web/menu-read-tat/menu-2015/menu-42015/682-42015-cruise
https://sites.google.com/site/arc595483201/project-background
http://marketrealist.com/2015/01/carnivals-contemporary-premium-luxury-cruises/



Post a Comment

0 Comments
* Please Don't Spam Here. All the Comments are Reviewed by Admin.
Post a Comment (0)
To Top