สภาพแวดล้อมที่ฟิลิปปินส์คล้ายๆ
บ้านเราด้วยอากาศร้อนอบอ้าว ผู้คนมีจิตใจชอบการบริการ ถ้าไปซื้อของที่ฟิลิปปินส์
พนักงานจะใส่ใจถามไถ่ พิถีพิถันดูแลลูกค้า
คนฟิลิปปินส์พูดภาษาตากาล๊อคเป็นพื้นฐาน
แต่พูดภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยอย่างคล่องแคล่ว กระทั่งเด็กเล็กๆ
ขวบสองขวบก็ใช้ภาษาอังกฤษได้แล้ว พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ถือว่ามีจำนวนมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ถ้าเที่ยวในมะนิลาจะเจอแต่โบสถ์ ไม่มีวัด ก่อนกินอาหารทุกคนต้องสวดขอบคุณพระเจ้าก่อนทุกครั้ง
สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นจริงไม่เหมือนกัน
ดูเหมือนว่าฟิลิปปินส์น่าจะเจริญไปมากกว่านี้ เพราะผู้คนชอบศึกษาหาความรู้
ขณะเดียวกันทักษะภาษาอังกฤษสุดยอดไม่แพ้สิงคโปร์ หรือเทียบเคียงอเมริกาเองก็ตาม
ปัญหารากฐานมาจาก 2 เรื่องใหญ่ คือ
1. เสถียรภาพของประเทศ ความมั่นคงสงบเรียบร้อยภายในฟิลิปปินส์เป็นปัญหาที่เรื้อรังและผูกติดอยู่กับหลายเรื่อง
นั่นคือ ความขัดแย้งทางศาสนา ฟิลิปปินส์ตอนใต้นับถือศาสนาอิสลาม
และต้องการแบ่งแยกดินแดนจากฝั่งบนที่ล้วนแต่นับถือคริสต์ศาสนา
พอถูกประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอสที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้อำนาจเผด็จการกวาดล้าง
ความขัดแย้งทางศาสนายิ่งคุกรุ่นขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มก่อการร้ายแอบแฝง
และกลุ่มต้องการเปลี่ยนขั้วการเมืองเข้าสู่คอมมิวนิสต์
ทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวายภายในเป็นระยะๆ
สังเกตได้จากระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ทุกตึกต่างๆ
ในประเทศฟิลิปปินส์ต้องมียามรักษาความปลอดภัยคอยตรวจตรากระเป๋า
และยืนตามมุมถนนที่สำคัญๆ แม้แต่บรรดาร้านรวง รถทุกคันที่เข้าสู่สนามบินต้องตรวจค้นรอบรถ
เพื่อป้องกันการก่อวินาศภัย
นอกจากนี้ยังรวมถึงภัยธรรมชาติที่รุมเร้าจากสภาพพื้นที่ของประเทศที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยกว่า
7 พันเกาะกลางมหาสมุทร
2. ระบบพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ประเทศฟิลิปปินส์คล้ายคลึงกับประเทศไทย จากการเป็นประเทศเกษตรกรรม
เพาะปลูกผลไม้ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะมะพร้าว แต่พื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด
ประกอบกับขาดการส่งเสริมจากภาครัฐบาล จนรายได้เกษตรกรตกต่ำ เกษตรกรทิ้งอาชีพเข้ามาทำงานในเมืองมากมาย
จนล้นขยายไปยังต่างประเทศ ถือเป็นประเทศที่สร้างรายได้ของตนจากแรงงานในต่างประเทศเป็นอันดับที่
3 ของโลก
จากรายได้เกษตรกรที่ยากจน รัฐบาลเฟอร์ดินาน มาร์กอส ใช้นโยบายซื้อใจชาวนารากหญ้าจนได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
รัฐบาลกู้เงินจากต่างชาติก้อนใหญ่ เพื่อทุ่มในนโยบายประชานิยม
ควบคุมสื่อสารมวลชนทั้งหมด แก้รัฐธรรมนูญให้ขยายเวลาปกครองประเทศถึง 20 ปี ทุกโครงการต้องถูกชักเปอร์เซ็นต์เข้าพรรคและครอบครัวมาร์กอส
จนคนฟิลิปปินส์ตกเป็นลูกหนี้ยากจนแห่งเอเชีย
นโยบายประชานิยมและทุนนิยมเสริมให้คนฟิลิปปินส์เป็นคนใช้เงินเก่ง
ค่าใช้จ่ายของประชาชนมากถึง 74% ของรายได้ GDP ทีเดียว
รายได้ทางธุรกิจกว่า 76% หมุนเวียนอยู่ภายใต้ 40 บริษัทใหญ่เท่านั้น รถติดในมะนิลามากกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก
ปัจจุบัน ดูเหมือนว่า ภายใต้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3
พัฒนาธุรกิจของคนฟิลิปปินส์ที่มีใจรักการบริการ ชอบพูดคุยสื่อสารและร้องเพลงเก่ง ให้เกิดธุรกิจการให้บริการแบบ outsource ถือเป็นจุดเติบโตหลักของเศรษฐกิจ (Business
Process Outsource) ที่แซงหน้าอินเดียไปทันที ไม่ว่าการให้บริการ call
center ให้กับหน่วยงานในสหรัฐ และยุโรป
รวมถึงการพัฒนาธุรกิจผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวหน้ามาก
ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในเอเชีย
เอกสารอ้างอิง
http://aseanwatch.org/2014/12/31/%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B9%80-2/
http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-01-30/move-over-thailand-the-philippines-is-southeast-asia-s-strong-man#media-1
http://www.nationmaster.com/country-info/compare/Philippines/Thailand/Economy